“นครปฐม” ฝันไกลคลองสวยน้ำใส แปลงขยะเป็นไบโอก๊าซหนุนอาหารกลางวัน


รู้จักจังหวัดนครปฐมไหม...??? หากมีใครเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา แทบจะเป็นคำตอบสวนกลับในทันทีว่ารู้ และไล่เรียง สัญลักษณ์เสร็จสรรพว่ามี พระปฐมเจดีย์ มีส้มโอทองดีแห่งนครชัยศรี มีข้าวขาหมูรสเด็ด..!!! นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสื่อความว่า “รู้จริง...!!!”

          แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ทุกวันนี้ นครปฐมแทบจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเต็มตัว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นชาวนครปฐมบางส่วนก็ปรับสภาพตามได้ทัน ขณะที่บางส่วนอาจจะยังตั้งรับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดีนัก
          จากการ“ประชุมเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network)” จังหวัดนครปฐม (พื้นที่อ้อมใหญ่) ซึ่งเป็นงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าปัญหาหลักที่เป็นจุดร่วมเดียวกัน คือ แม่น้ำท่าจีนที่เป็นเสมือนสายเลือดของชาวนครปฐม ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่เข้ามาประกอบกิจการหลายสิบปีและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม่น้ำท่าจีนและคลองสาขาได้รับความ เสื่อมโทรม น้ำไม่ใสเหมือนแต่ก่อน 
         ในวงเวิร์คช็อปได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ประชากรแฝงเข้ามาอยู่ในพื้นที่จำนวนมากกิจการบ้านเช่า ขยายตัวทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยที่จัดการไม่หมด  ขณะที่วัชพืชทางน้ำ เช่น ผักตบชะวาไม่มีการจัดการที่ดีนัก จึงส่งผลต่อลำน้ำท่าจีนดังกล่าว เป็นต้น  

จะทำอย่างไรให้แม่น้ำท่าจีนกลับมาใส?

จะทำอย่างไรขยะชุมชนจึงจะได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ?

นี่คือโจทย์ใหญ่ ของชาวนครปฐม ที่จะใช้พลังของเครือข่ายที่มีอยู่ผนวกเข้ากับเครื่องไม้ เครื่องมือต่างๆจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดผลเชิงประจักษ์

ที่ประชุมได้มีการเสนอโมเดลที่น่าสนใจคือ “คลองสวยน้ำใส ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" โดยจัดตั้งเครือข่ายระดับชุมชนร่วมกันทำความสะอาดคลอง จัดให้มีวิทยากรให้ความรู้เรื่องการดูแลแหล่งน้ำตลอดทั้งสาย ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและสถานศึกษา พัฒนาองค์ความรู้เรื่องการกำจัดวัชพืชทางน้ำ แปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เกิดคุณค่า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอวิธีการคัดแยกขยะชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์ เช่น การนำขยะเปียกจากชุมชนพัฒนาไปสู่ Bio Gas.โดยเริ่มโครงการที่โรงเรียนโดยรณรงค์ให้นำเศษอาหารมาเก็บไว้บ่อกักเก็บ เพื่อทำ Bio Gas.ไว้ใช้ในโครงการอาหารกลางวัน ฯลฯ

สู่ปลายทางที่หวังได้อย่างไร

 

ในที่ประชุมได้เสนอว่าคณะทำงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศควรมีความคล่องตัว เพื่อเข้าถึงปัญหาและแก้ปัญหาได้อย่างต่อเนื่องตรงประเด็น จึงควรมีการตั้งคณะทำงานเชิงพื้นที่ โดยมีผู้ว่าเป็นประธาน อาจเรียกกันว่า “เครือข่าย Eco.ชุดเล็ก” เพื่อกำหนดวาระเร่งด่วนเพื่อพลิกโฉมอ้อมใหญ่ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบของประเทศ และเร่งปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมหวงแหนแม่น้ำท่าจีน มีการประชุมประเมินผลทุกระยะ 3 เดือนต่อครั้ง  

 

นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ให้มีความเท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆผ่านสื่อ Social เช่น Fanpage Facebook หรือการสร้างกรุ๊ป Line  รวมไปถึงการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านเว็บไซต์กลางอย่าง www.roypalang.org / เว็บไซต์อุตสาหกรรมจังหวัด / สาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น และจะจัดให้มีศูนย์ประสานงานเครือข่าย ซึ่งจะเชื่อมโยงไปกับ ECO Center เชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆที่มีในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

สู้ให้สุดแรง ลุยให้สุดใจ สู่ปลายทางที่วาดหวัง เป็นกำลังใจให้ครับ

ขอบคุณภาพพระปฐมเจดีย์จากเว็บไซต์ บ้านสวนโฮมเสตย์ 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube