ใจหล่นที่ "โซ่พิสัย" ชุมชนต้องปักหมุด


 

ใจหล่นที่ “โซ่พิสัย”

ชุมชนต้องปักหมุด

 

หมู่บ้านเล็กๆ บ้างปลูกติดกัน บ้างอยู่เป็นปริมณฑลของตัวเอง มีพื้นที่ส่วนตัวใช้สอยพอประมาณ ข้างฝาบ้านมีภาพเขียนหลายเฉดสี ชวนให้พาจินตนาการแหวกว่ายลงไปยังลำน้ำโขงที่อยู่เบื้องหน้าไม่ไกลนัก ใต้ถุนบ้านมีพ่อแก่แม่เฒ่ากุลีกุจอทำเครื่องจักสานกระติ๊บข้าวอย่างมีความสุข แผ่ออร่าออกมาทางใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้ม บางบ้านมีแขกผู้มาเยือนเป็นวัยหนุ่มสาว นั่งคุยไปด้วยถ่ายรูปไปด้วย ดัชนีแห่งความสุขพุ่งสูงปรี๊ดเลยทีเดียว

 

****

บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ หมู่บ้านเล็กๆขนาด 50 หลังคาเรือน ประชากรรวมกันราว 200 กว่าคนนิดๆ มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัด “โพธิ์ศรีมงคล” พระจำพรรษา 5 รูป ครบองค์คณะรับกฐินได้พอดี แต่ไม่มีโรงเรียน เด็กๆต้องเดินไปเรียน ที่โรงเรียนในอีกหมู่บ้านไม่ไกลนัก

 

จากฐานข้อมูลนี้ หลายท่านคงมองว่ามันก็ธรรมดาของสภาพชนบททั่วไป เป็นแดนสนธยาเสียด้วยซ้ำเพราะไม่มีสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหรือใครต่อใครหักพวงมาลัยเลี้ยวเข้ามายังหมู่บ้านแห่งนี้ หากไม่มี “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ” ตั้งอยู่ในชุมชน

 

 

อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ปลุกปั้น “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ” ในฐานะที่เกิดในหมู่บ้านแห่งนี้ ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับบ้านเกิดของตนให้ได้ และชาวชุมชนต้องได้ประโยชน์โดยทั่วกัน ปั้นทุกสิ่งอย่างผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน แล้วความยั่งยืนจะไปไหนเสีย

 

ผมได้สัมผัสพูดคุยกับอาจารย์ขาบ เพียงไม่กี่นาที สัมผัสได้ถึงพลังอันเปี่ยมด้วยความสร้างสรรค์ เป็น “ชายสามธรรม” คือ ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา

มีธรรมมะ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

มีธรรมชาติ เป็นความสุขช่วยให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ

เป็นคนธรรมดา คนหนึ่งที่ไปได้ทุกที่ เข้าได้กับทุกคน  

 

 

อาจารย์ขาบเล่าให้ฟังว่า แนวคิดที่จะพัฒนาบ้านเกิดนั้นฝั่งลึกในใจมานานโข แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เริ่มอย่างเต็มตัว จนเมื่อปี 2560 จึงได้ลงมือทำอย่างจริงจัง โดยใช้บ้านส่วนตัวเป็นโมเดลต้นแบบ แล้วค่อยขยายผล ในระหว่างที่สร้างพิพิธภัณฑ์ในบ้านของตนเองนั้น ก็ค่อยๆประชุมชาวบ้าน หาคนที่มีใจพอจะเป็นแนวร่วมก่อน กว่าที่จะปั้นงานมาได้ก็เหนื่อยเอาการ

 

 

“พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมของสะสม ของโบราณที่เรามีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นของใช้ส่วนตัว ของใช้ในครัวเรือนที่แม่เคยใช้ เมื่อท่านไม่อยู่จึงอยากรวบรวมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ ตอนเริ่มลงมือทำคนในชุมชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจเป็นเพราะมองไม่ออกว่าจะออกมาในรูปแบบใด บ้างมองว่าเราทำเป็นธุรกิจส่วนตัว แต่ยืนยันตลอดว่าจะสร้างสรรค์ให้ชุมชนเรามีส่วนร่วม สร้างให้ชุมชนเราเกิดแหล่งเรียนรู้ใหม่

 

 

จากบ้านก็ขยับไปที่วัดปรึกษาพระคุณเจ้าท่านก็ให้กุฏิเก่าหลังหนึ่งซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก เราเข้าไปบูรณะควานหาของโบราณมารวบรวมไว้ พยายามสร้างเรื่องราวเชื่อมโยงหลักธรรมแฝงคติความเชื่อของชาวลุ่มน้ำโขง ที่ขาดไม่ได้คือพญานาคราช

 

 

พอมีพิพิธภัณฑ์ที่บ้านแล้ว มีวัดที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ชาวบ้านก็เริ่มเห็นภาพมากขึ้น เห็นพลังของความเปลี่ยนแปลง เริ่มมีคนมาถ่ายรูป เริ่มมีการโพสลงโซเชียล การปูพื้นความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องทำให้ได้รับความร่วมมือ จึงขยับมาที่ชุมชน โดยการวาดภาพศิลปะลงบนผนังบ้านเพื่อสร้างสีสันให้แก่ชุมชน เรียกโปรเจ็คนี้ว่า "วาดบ้านแปลงเมือง" นำอาชีพที่เขาทำอยู่ผนวกกับวีถีความเชื่อของชาวลุ่มน้ำโขง ภาพที่ออกมาเป็นความยินยอมของเจ้าของบ้าน และมีส่วนร่วมในการคิดการออกแบบตลอดจนแต่งแต้มสีสันร่วมกับน้องๆจิตกร จิตอาสาที่ลงพื้นที่ทำงานกับเรา”

 

 

อาจารย์ขาบ เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน ความที่เป็นนักสร้างสรรค์แบรนด์ระดับหัวแถว มีบริษัทเป็นของตนเอง ชื่อว่า “KARB STUDIO” เป็นอาจารย์พิเศษสอนที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และยังทำงานมูลนิธิ ต่างๆรับใช้ใกล้ชิดเจ้านายหลายพระองค์ นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของรางวัลระดับโลก ด้านการสร้างสรรค์อาหาร “gourmand awards” รวมกันแล้ว 31 รางวัล ต่อเนื่องกันถึง 11 ปีซ้อน

 

ถึงตรงนี้ท่านคงร้องอ๋อแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่แห่งนี้ แท้ที่จริงมาจากของดีในชุมชนผนวกกับองค์ความรู้ไอเดียสร้างสรรค์ เป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีอาจารย์ขาบในฐานะลูกหลานของคนในชุมชน พยายามนำสิ่งใหม่ๆเข้ามา เติมองค์ความรู้ให้แก่ชาวชุมชน โดยเฉลี่ยการกลับบ้านเกิดของอาจารย์ขาบเดือนละหนึ่งครั้งจะมีการพบปะชาวชุมชนทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่เสมอ

 

 

ความยั่งยืนที่กำลังจะเกิดขึ้นกับความในชุมชนแห่งนี้แม้อาจยังไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขสะท้อนทางเศรษฐกิจ แต่ระดับความค่อยเป็นค่อยไปเริ่มมีขึ้นเป็นลำดับ กิจกรรมที่ชาวบ้านมีรายได้เหนาะๆจากการเกิดพิพิธภัณฑ์ และแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน อาจารย์ขาบให้ข้อมูลว่า

 

 

“ขณะนี้มีตลาดนัดเกิดขึ้นในชุมชนสัปดาห์ละครั้งในวันเสาร์ มีกติกาของการบริหารจัดการพื้นที่คือ ให้สิทธิ์เฉพาะชาวชุมชนเท่านั้นที่นำสินค้ามาขาย แผงค้าราวๆสามสิบกว่าแผง สินค้าที่มาวางก็เป็นสิ่งที่หาได้ในชุมชน พืชผักสวนครัว ต่อหนึ่งนัดมีรายได้ราว 700-1,500 บาท นี่เป็นรายได้เพิ่มขึ้น จากการมีตลาดนัด จากการมีแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นภายในชุมชน

 

รายได้ของชาวชุมชนที่เห็นได้ชัดอีก คือ แต่เดิมทั้งหมู่บ้านจะสานกระติ๊บข้าวขาย มีพ่อค้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน เป็นลักษณะการขายส่งกระติ๊บหนึ่งตกราวๆ 100-130 บาท ราคาก็ผู้ซื้อเป็นคนกำหนด แต่พอชุมชนเราเริ่มมีคนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งสานกระติ๊บไปให้ความรู้ผู้มาเยือนไปเรื่อยๆ กระติ๊บข้าวที่กำลังสานอยู่นั้นกลายเป็นว่า ทำไปขายไป ได้ราคาดีอีกต่างหาก (180-200 บาทต่อใบ) คนที่เข้ามาเห็นถึงความยากลำบากกว่าจะได้มา คนซื้อก็ไม่อยากต่อรองแถม บางคนให้เพิ่มอีกต่างหาก”

 

 

ต้นทุนที่ค้นพบในชุมชน ผนวกทุนความรู้ความคิดสร้างสรรค์ และทุนสนับสนุนจากภายนอกเริ่มเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน ชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ กำลังกลายเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวต้องปักหมุดให้ GPS นำมาให้เข้ามาถึงเพื่อยลเสน่ห์ของชุมชน ดูสายธารแห่งวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง มนต์เสน่ห์แห่งลูกหลายพญานาคอาจทำให้ใครหลายๆคนทำใจหล่นไว้ที่โซ่พิสัยก็เป็นได้  หากยังไม่ได้ไปเยือนไหนเลยจะรู้ถึงความรู้สึกนั้น แม่นบ่ครับ

 

 

 

 

 

หมายเหตุ : วันที่ 24 ตุลาคม 2561 จะมีการจัดงานเปิดตัวหมู่บ้านท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ พร้อมอวดโฉมความงามในทุกเฉดสีที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องมาแรมเดือน พี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงหรือยักท่องเที่ยวที่ยังไม่มีโปรแกรมที่ไหน แวะไปสัมผัสได้เลย  

 

ขอบคุณภาพจากคุณโอ๋ อัณญาพล ,พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube