เย้าสายหมอก กอดปุยเมฆ ยลทะเลภูเขา "ภูเตาโปง"



ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/Phutaopong

 

เย้าสายหมอก กอดปุยเมฆ

ยลทะเลภูเขา “ภูเตาโป่ง”

 

บ้านบุ่งกุ่ม ตำบลภูหอ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย คือพิกัดของ “ทะเลหมอกภูเตาโปง” ที่กำลังจะกลายเป็นปลายทางแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวิถีธรรมชาติทะเลหมอก มาที่นี่คงไม่ผิดหวัง  

 

ย้อนความหลังก่อน “ทะเลหมอกภูเตาโปง” บนพื้นที่ 4,105 ไร่ จะเป็นที่รู้จักนั้นต้องบอกว่าป่าเขาแห่งนี้มีบาดแผลมาไม่น้อย จากการถูกรุกป่าเข้าไปทำมาหากิน ทั้งการทำไร่มัน ปลูกข้าวไร่ และอื่นๆ จนเมื่อราวปี 2535 มีโครงการอีสานเขียว ที่ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี (นายพลผู้เป็นต้นทางของแรงบันดาลใจให้เกิดเพลง "ทะเลใจ" ของแอ๊ด คาราบาว) เมื่อคราวเป็นแม่ทัพภาคที่สองเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการในแถบนั้น ได้ส่ง เจ้าหน้าที่เข้าไปเจราจากับชาวบ้านขอให้ คืนธรรมชาติให้แก่ผืนป่าจะดีกว่าไหม เป็นอันว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ธรรมชาติจึงค่อยๆฟื้นตัวจนมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง ล่าสุดได้รับโฉนดป่าชุมชนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

 

หากนับกันจริงๆที่ ภูเตาโปงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยม เริ่มเมื่อ 2558 โดยกลุ่มพลังใหม่ลูกหลานชาวบ้านรวมตัวกันในนาม “จิตอาสาป่าชุมชนบ้านบุ่งกุ่ม” มีสมาชิก 30 คน เข้าสำรวจพื้นที่ป่าหลังจากพบความผิดปกติเกิดขึ้น สิ่งนั้นคือน้ำซับที่ไหลจากภูเขา ซึ่งไหลลงสู่พื้นล่างแต่เดิมไม่เคยแห้งเหือด อยู่ๆน้ำก็เหือดหายไป ข้อสงสัยในใจ ผนวกกับองค์ความรู้เรื่องป่าของพวกเขา จึงลงความเห็นว่าด้านบนน่าจะมีอะไรผิดปกติ จึงจัดทีมขึ้นไปสำรวจซึ่งพบว่าเริ่มมีการรุกป่าอีกครั้ง เป็นสาเหตุที่น้ำหายไปตามสมมุติฐาน  

 

ระหว่างสำรวจนั้นพวกเขาได้พบ Unseen. มุมมองใหม่ที่สวยงาม นั้นก็คือจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวยืนเซลฟีโพสลงโซเชียล นั่นเอง จากนั้นจึงเริ่มพูดคุยกับชาวบ้านอย่างจริงจังว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการรุกป่า และ Unseen.ที่เห็นนั้นเราจะยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างไร  อย่างน้อยเมื่อมีแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้น คนในชุมชนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว การรุกป่าลำลายป่าจะค่อยลดลงไปโดย อัตโนมัติ

 

จึงเป็นที่มาของการระดมสรรพกำลังของคนในชุมชน และทีมจิตอาสาร่วมมือกันสร้างจุดชมวิด พัฒนาพื้นที่จุดกางเต็นท์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

 

ปัจจุบันคนในหมู่บ้านราว 150 ครอบครัว 300 กว่าคนได้ประโยชน์จากผืนป่าชุมชนแห่งนี้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยวกิน ระยะเวลาราว 4-5 เดือน ปลายฝนต้นหนาว (ตุลาคม-มีนาคม) โดยพวกเขาจะคอยให้บริการนักท่องเที่ยว(แบบสมัครเล่น) ทั้งการให้บริการรถอีแต๊ก พานักท่องเที่ยวขึ้นภูเขาไปยังจุดชมวิว และลานกางเต็นท์ บางคนก็กลายเป็นไกด์นำเที่ยว พาไปดูจุดต่างๆ บางช่วงยังพานักท่องเที่ยวเก็บเห็ดป่ามาทำแกงได้อีกต่างหาก และเริ่มมีชาวบ้านทำโฮมสเตย์ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย 

 

หนึ่งในทีมจิตอาสาที่เป็นเพื่อนกันกับผม เล่าให้ฟังอย่างออกรสว่า ทั้งทีมอีแต๊ก ทีมไกด์ แรกๆก็ เก้ๆ กังๆ พอไปมาๆก็ค่อยๆเริ่มให้บริการนักท่องเที่ยวได้ดีเป็นลำดับ กลายเป็นขวัญใจของนักท่องเที่ยวไปแล้วก็มี ถือว่ามีพัฒนาการไปในทางที่ดี

 

ผมถามเจาะไปในรายละเอียดตัวเลขรายได้ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการจัดการท่องเที่ยวที่เริ่มแบบจรยุทธ์ อย่างนี้ชาวบ้านพอได้ไหม ได้รับคำตอบว่าปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ 500 คน (อาจยังไม่มีการเก็บสถิติตัวเลขให้เป็นระบบเท่าไร) การให้บริการแยกเป็น 3 ส่วนคือ ค่ารถ 600 บาทต่อเที่ยว ค่าไกด์นำเที่ยว 300 บาท/รอบ/ต่อคน ค่าเช่าเต็นท์ 100 บาท/หลัง ปัจจุบันมีรถที่พานักท่องเที่ยวขึ้นไปจุดชมวิวด์  3 คัน (อีแต๊ก 2 คัน รถยนต์โฟวิล 1 คัน) ถือเสียว่าได้เงินเข้ากระเป๋าหลักหมื่นเลยทีเดียว

 

ฤดูการท่องเที่ยว 2561 ที่กำลังเริ่มต้น เริ่มมีนักท่องเที่ยวติดต่อเข้ามาบ้างแล้วไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่ม (8-10 คนต่อกลุ่ม) คาดการณ์กันว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นสองเท่าของปีก่อน (ประเมินแบบถ่อมตน เพราะขณะที่คุยกันอยู่นั้นก็รับสายนักท่องเที่ยวสอบถามข้อมูลเข้ามาเป็นระยะๆ)

 

 อ้อ...! เกือบลืมบอกไป นักท่องเที่ยวที่อยากมาสัมผัสทะเลหมอกภูเตาโปงมีทางเลือก 2 แบบ คือ เดินขึ้นเขาสัมผัสธรรมชาติ กับใช้บริการรถอีแต๊ก-รถโฟวิล

 

เดินขึ้น ระยะทางราว 2.5 กิโลเมตร

นั่งรถ ระยะทางราว 6 กิโลเมตร

 

แต่ไม่ว่าจะขึ้นไปด้วยวิธีใดก็ตาม ปลายทางที่จะได้สัมผัสนั้นคือความสวยงามทางธรรมชาติ ปุยหมอกขาวที่กำลังหยอกเย้ากับก้อนเมฆ ชวนให้จินตนาการว่ากำลังพาตัวเองเข้าไปแหวว่ายอยู่บนนั้น

หยิบกล้องมือถือมาเซลฟีสักแชะ โพสลงโซเชียลซะ เพื่อนๆคงเข้ากดไลค์รัวๆเชียวละ ติดแท็กภูเตาโปงกันแล้ว ก็อย่าลืมแท็คร้อยพลังมาด้วยนะ

  

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube