ผ้าไทยตักศิลา "มหาสารคาม" ผ้างามเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน


ผ้าไทยตักศิลา “มหาสารคาม”

ผ้างามเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

 

7 กรกฎาคม 2561 คือวันที่จะจารึกไว้ในใจแม่อ้อย อุมาภรณ์ ประทุมไชย แห่งห้องเสื้ออุมาภรณ์ เมืองตักศิลาอีสาน มหาสารคาม ตราบสิ้นลม เพราะเป็นวันที่ได้น้อมเกล้าฯ ถวายผ้าผืนลายสร้อยดอกหมาก สัญลักษณ์ ประจำจังหวัดแด่องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเสด็จมาเป็นองค์ ประธานในงานประจำปีของวิทยาลัยเกษตรทั่วภาคอีสาน

 

กว่าสามสิบปีที่ “ห้องเสื้ออุมาภรณ์” ยืนหยัดอยู่คู่เมืองมหาสารคาม สร้างผลงานอันโดเด่นมานับไม่ถ้วน เหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยันศิลปินดารา แวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้หญิงตัวเล็กๆที่เรียน จบเพียงแค่ชั้น ป.4 แต่สามารถเอาดีได้กับงานผ้าอันเป็นภูมิปัญญาที่เธอเรียนรู้ด้วยสัญชาตญาณไม่ทิ้งลาย ที่ได้ชื่อว่าเกิดบนแผ่นดินตักศิลาอีสาน

 

ผมสืบค้นข้อมูลเรื่องผ้าไทย การใช้ผ้าไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน สัมภาษณ์พูดคุยมาหลายเครส เรื่องนี้ถือเป็นคลาสสิคเครสที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะเป็นตัวอย่างการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นค่อยๆยกระดับดำเนินไปตามวิถี และที่สำคัญมีการเติมองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง คือหัวใจสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสร้างรายได้หมุนเวียนอยู่ในกลุ่มนับแสนบาทต่อเดือน และมีโอกาสขยับตัวเลขสูงขึ้นไปได้อีก

 

ภารดีธิดา ธนสารสกุลชัย หรือ หนูนา อดีตหัวหน้าสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะ “ลูกฮัก” ที่มีส่วนช่วยสานต่อภารกิจห้องเสื้ออุมาภรณ์ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ค่อยๆไล่เลียงข้อมูลให้ฟังเป็นฉากๆ ถึงกระบวนการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ตลอดจนการเติมองค์ความรู้และงานสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆว่า

 

“เดิมห้องเสื้ออุมาภรณ์ ดำเนินกิจการเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าในรูปแบบเครือข่ายโอท็อป มีสมาชิก 30 ราย อยู่ในพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม (10 หมู่บ้าน) ทำงานตั้งแต่การผลิตผ้าผืนจนถึงการตัดเย็บ ด้านการตัดเย็บก็ใช้ความชำนาญของแม่อ้อยที่มีห้องเสื้ออยู่แล้วเป็นอาวุธสำคัญ ต่อมาปี 2549 เริ่มจดทะเบียนในรูปแบบวิสาหกิจชุมชมในชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านท่าตูม” สมาชิก ณ ปัจจุบัน 50 ราย และมีเครือข่ายงานผ้าที่ครบวงจร ด้านวัตถุดิบเรามีกลุ่มปลูกหม่อน เลี้ยงไหม กลุ่มทอผ้า กลุ่มปลูกคราม กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มผ้าย้อมคราม ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ฯลฯ”

ถือเป็นงานขั้นต้นน้ำที่ครบวงจรเลยทีเดียว ด้านการเติมองค์ความรู้และการสร้างโอกาส หนูนา บอกว่า

 

“ปี 2559 ได้รับการส่งเสริม จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อุตสาหกรรมจังหวัด อุตสาหกรรมภาค 5 (จ.ขอนแก่น) และกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมดำเนินโครงการผู้ประกอบการสินค้าและวัฒนธรรม โดยชุมชนเพื่อสุขภาวะอย่างยั่งยืน ให้ห้องเสื้ออุมาภรณ์ ได้โชว์ฝีมือการออกแบบตัดเย็บด้วยผ้าไทย จนได้รับสิทธิ์การทดสอบตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปีเดียวกัน “ห้องเสื้ออุมาภรณ์” ได้รับรางวัลสุดยอด SME ประจำปี 2559 (SME Provincial Champion)”

ถือเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ๆให้เกิดขึ้น ผม ค่อยๆกระแซะๆ ถามถึงตัวเลขรายได้จากหนูนา พยายามเค้นให้เธอบอกเล่าเท่าที่พอเปิดเผยได้ เธอบอกว่า

 

“รายได้ของห้องเสื้อ ถ้าเป็นตัวเลขกลมๆ อยู่ประมาณ 150,000-200,000 บาทต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน ลูกค้าหลักก็จะเป็นหน่วยงานราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดห้องเสื้อเราได้มีโอกาสได้ออกแบบตัดเย็บให้เกือบทุกท่าน นอกจากนี้ก็จะเป็นพี่น้องประชาชนทั่วไป และมีกลุ่มศิลปินนักร้องหมอลำมาให้ออกแบบอย่างต่อเนื่อง

 

หากประเมินรายได้หมุนเวียนภายในกลุ่มเครือข่ายผ้าหรือเงินที่เข้าสู่ชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมงานผ้า เฉลี่ยจะตกอยู่ราว 200,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตที่ทันต่อความต้องการของลูกค้า ถือเป็นงานที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้กับสมาชิก สมาชิกเราไม่เพียงทำงานอยู่แต่ในพื้นที่เท่านั้น หากมีโอกาสได้ออกร้านแสดงสินค้าตามสถานที่ต่างๆ ก็จะชักชวนกันไปออกงานเป็นการเปิดหูเปิดตา เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนำความรู้มาประยุคใช้”

 

ขณะที่งานด้านการประชาสัมพันธ์ผ้าไทยเมืองสารคามให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของกลุ่ม เนื่องจากหนูนา ซึ่งอีกสถานะหนึ่งเธอคือนักจัดรายการวิทยุ เป็นทั้งพิธีกรและเป็นศิลปินนักร้อง ที่มีคนรู้จักมีแฟนคลับอยู่จำนวนหนึ่ง การที่เธอผูกพันกับผ้าไทย ไปไหนมาไหนมักแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยจนเป็นเอกลักษณ์ ถือการสื่อสารประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ได้อีกวิธีหนึ่ง

 

ก่อนจบบทสนทนาผมเค้นความรู้สึกของหนูนา ที่มีต่อผ้าไทยและความตั้งในในการสารต่อกิจการผ้าไทย ในฐานะลูกฮัก ที่เสมือนลูกในใส้แม่อ้อย เธอกล่าวไว้ว่า

“หนูนา รักในผ้าผืน รักในผ้าไทยเป็นทุนเดิม พยายามเรียนรู้งานทุกกระบวนการ ค่อยๆฝึกค่อยๆคิดเพื่อการสืบสานอยู่ตลอด หนูนาดูแลงานด้านประขาสัมพันธ์ ด้วยการสวมใส่ เป็นตัวอย่างเสื้อผ้าที่สวมใส่ทุกชิ้นตัดเย็บโดยฝีมือของแม่ ไปไหนมาไหน คนก็มีคนถามถึงที่มา หรือที่โพสน์ภาพผ่านสื่ออนไลน์ เมื่อคนชอบ ก็จะติดตาม เป็นการส่งเสริมการตลาดได้เป็นอย่างดีค่ะ และเราเป็นศิลปินด้วย จึงทำให้คนสนใจมากขึ้นอีกด้วย เพื่อนๆสายศิลปินก็สั่งทำชุดอย่างต่อเนื่อง เป็นความภูมิใจที่สุดแล้ว ที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดอาชีพ เกิดรายได้ภายในชุมชน”

 

จากเส้นด้ายกลายเป็นผ้าผืน จากผ้าผืนกลายเป็นเสื้อผ้าหลากดีไซน์ ภูมิปัญญาผ้าไทย จึงเป็นหัวหอกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างรายได้ให้ตกอยู่ในชุมชน

เพียงแค่เริ่มลงมือ คุณก็คือฟันเฟืองชิ้นสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนแล้ว นี่จึงเป็นคลาสสิคเครส แห่งตักศิลามหาสารคาม ที่งานผ้าสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างมีนัยสำคัญ ที่ควรได้รับการถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อนำไปสู่การต่อยอด ต่อไป

 

สู้เด๊อพี่น้อง

 

 

***

 

หมายเหตุ : เครือข่ายที่ทำงานร่วมกันประกอบด้วย

1.กลุ่มทอผ้าชุมชนใกล้เคียงที่มีคุณภาพฝีมือ เช่น -กลุ่มทอผ้าบ้านหนองคู ม. 8 ต.ท่าตูม - กลุ่มทอผ้าบ้านท่าตูม ม. 3 และ ม. 9 -กลุ่มทอผ้าบ้านหนองบัว ต.หนองกุง อ.แกดำ จ.มหสารคาม - กลุ่มท่าตูมอินดิโก ต.ท่าตูม (เป็นกลุ่มผู้ผลิตผ้าครามลายเอกลักษณ์)

2.กลุ่มโอท้อป ระดับ 3-5 ดาว ในจังหวัดมหาสารคาม

3.พัฒนาขุมชนจังหวัดมหาสารคาม

4.อุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม

5.มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

6.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

7.มหาวิทยาลัยมหิดล 8.อุตสาหกรรมภาค 5 จ.ขอนแก่น

9.สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองมหาสารคาม

10.สมาคมส่งเสริมผ้าไทย จ.มหาสารคาม

 

ห้องเสื้ออุมาภรณ์  ตั้งอยู่ที่ 161 ม. 3 ต.ท่าตูม อ.เมือง จ. มหาสารคาม 44000  โทร 043-793037  มือถือ 087-9535300

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube