ตลาดต้องชม“ทุ่งโฮ้ง” หม้อฮ่อม เมืองแพร่


ตลาดต้องชม“ทุ่งโฮ้ง”

หม้อฮ่อม เมืองแพร่

 

 

บนถนนที่ถูกขนานนามว่า ถนนสายหม้ออ่อม ณ ชุมชนทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ ห่างจากตัวเมืองไม่ถึง 10 กิโลฯ ร้านรวงเรียงราย สุดลูกหูลูกตา ล้วนเป็นร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อฮ่อมทั้งสิ้น สมชื่อกับเป็นเมืองหลวงของผ้าหม้อฮ่อมของเมืองไทย และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในตลาดต้องชม...!!! ที่กระทรวงพาณิชย์ให้การส่งเสริม

 

ชาวชมชนทุ่งโฮ้ง สืบทอดอาชีพการค้าขายผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อฮ่อมจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน จนกลายเป็นตำนานผ้าพื้นเมืองเมืองแพร่ ใครก็ตามหากมาเยือนเมืองแพร่หากไม่ได้หยิบเสื้อหม้อฮ่อมติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนทางหลัง ก็เหมือนกับยังมาไม่ถึง

“ตลาดทุ่งโฮ้ง เป็นที่รู้จักกันดีในนามแหล่งค้าขายผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อฮ่อม เป็นระยะเวลายาวนาน มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทั้งชายและหญิง ที่นี่ผลิตตั้งแต่การปั่นเส้นด้าย ทอผ้าผื่น ยันออกแบบตัดเย็บ อยู่ภายในชุมชน บางช่วงก็เงียบเหงา นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นไม่มีเข้ามา แต่เราก็สู้เพราะเข้าใจธรรมชาติของ การค้าขายและการท่องเที่ยวที่เป็นวัฏจักร...” พ่อค้าหนุ่มใหญ่รายหนึ่งพูดทักทายให้ข้อมูลอย่างเป็นกันเอง แถมยังให้ข้อมูลอีกว่า

 

“เมื่อปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหลายหน่วยงาน ได้คัดเลือกให้ชุมชนทุ่งโฮ้งเป็นตลาดต้องชม ตามสโลแกน “อัตลักษณ์พาณิชย์ อัตลักษณ์ชุมชน” ส่งผลให้เกิดความคึกคักขึ้นมาอีกครั้งนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลเข้ามา ชาวชุมชนก็มีการต่อยอดให้เกิดกิจกรรมอันหลากหลาย ทั้งพาชมขั้นตอนการทอผ้า การย้อมผ้า การขึ้นรูปตัดเย็บ เรียกได้ว่าเป็นการปลุกความคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง แม้ไม่ใช่เทศกาลการท่องเที่ยว จึงส่งผลต่อรายได้เพิ่มขึ้น แม้ไม่มากนัก แต่ก็เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ”  

 

จากคำบอกเล่าของพ่อค้าหนุ่มใหญ่ก็พอจะทราบได้ว่า บางครั้งของดีในชุมชนหากไม่ได้รับการบอกกล่าวขยายผลต่อ ก็อาจทำให้คนลืมเลือนไปได้ การมาของชื่อตลาดต้องชมจึงกลายเป็นการปลุกความคึกครื้นให้กลับมาอีกครั้ง

ค่อยเดินชมสินค้าไปเรื่อยๆ ผสานการพูดคุยกับพ่อค้าแม่ชาวตลาดต้องชมทุ่งโฮ้ง ที่ล้วนเป็นกันเองมีรอยยิ้มอันเป็นเสน่ห์ มีเรื่องราวเกร็ดความรู้สอดแทรกเรื่องเล่ามากมาย ชวนค้นคว้าอย่างไม่รู้จักเบื่อ ผมมาสะดุดตากับป้ายชื่อ “สหกรณ์หม้อฮ่อมทุ่งโฮ้งแพร่ จำกัด” ซึ่งเปิดเป็นศูนย์แสดงสินค้าเช่นเดียวกับร้านค้าทั่วๆ ไป แต่ที่พิเศษคือมีสมาชิกของสหกรณ์ที่ออกมาช่วยงานกันคนละไม้คนละมือ มีโซนแสดงสินค้าและแสดงผลงานของกลุ่มจัดวางไว้ให้เข้าชม

 

“ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 232 ราย เพิ่มขึ้นมาพอสมควรจากจากเมื่อก่อตั้งในปี 2532 มีสมาชิกจำนวน 20 ราย เราทำทั้งส่วนผลิต และส่วนขายควบคู่กันมีความครบวงจร รายได้ของสหกรณ์คิดเป็นตัวเลขกลมๆก็ตกปีละล้านกว่าบาท ก็นำมาบริหารจัดการให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และมีการปันผลให้สมาชิกเกือบทุกปี...” เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ให้ข้อมูลอย่างเป็นกันเองพร้อมนำชมสินค้า

ผมยังได้รับการบอกเล่าจากเหล่าพ่อค้าแม่ค้าอีกหลายปากว่า จังหวัดแพร่เป็นเมืองแห่งผ้าหม้อฮ่อม ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบนโยบายให้ข้าราชการใส่ผ้าหม้อฮ่อมไปทำงาน (โดยไม่บังคับ) และมีการณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปสวมใส่เสื้อผ้าหม้อฮ่อมอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้สินค้าพื้นเมืองได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยิ่งเข้าใกล้เทศกาลสงกรานต์ เสื้อหม้อฮ่อมยิ่งขายดี เพราะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจังหวัดแพร่คือเมืองหลวงแห่งผ้าห้อฮ่อม

 

หากมีโอกาสไปเยือนเมืองแพร่ ก็อย่าลืมแวะตลาดต้องชม “ทุ่งโฮ้ง” อุดหนุนสินค้าของชาวชุมชน และช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวตลาดต้องชมให้เป็นทราบโดยทั่วกันครับ

 

ว่าแล้วก็ขออนุญาตซื้อเสื้อหม้อฮ้อมกลับไปฝากคนทางบ้านสักตัวสองตัวก่อนนะครับ    

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube