ทุเรียนภูเขาไฟ-ศรีสะเกษ เรื่องเล่าจากสวนลุงเสริม


ทุเรียนภูเขาไฟ - ศรีสะเกษ  ... เรื่องเล่าจากสวนลุงเสริม

สมัยก่อนจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ถือเป็นเมืองหลวงแห่งความแห้งแล้งของอีสานใต้ ผู้คนอพยพไปขายแรงต่างถิ่นแทบไม่เหลือใครไว้เฝ้าบ้าน แต่ระยะหลังๆมีการฟื้นฟูในทุกๆมิติ จนค้นเจอเอกลักษณ์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้น บุรีรัมย์ – สุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาเป็นสินค้าขึ้นชื่อ  ส่วนศรีสะเกษ ขึ้นชื่อเรื่องหอมแดง กระเทียมแห้ง ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 จังหวัด มีการยกระดับของเดิมให้ดีขึ้นและเพิ่มความหลากหลาย ให้กลายเป็นจุดแข็งทางเศรษฐกิจ

โฟกัสเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ ทุกวันนี้กลายเป็นเมืองหลวงทุเรียนแห่งแดนอีสาน แต่ละฤดูกาลผลผลิตออกมาเกือบๆจะใกล้เคียงเมืองจันทบุรีแถมยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นจุดเด่นที่แตกต่าง ถูกคอถูกใจเหล่าคนนิยมผลไม้ไทยจนเริ่มได้การยอมรับในตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี และจดจำชื่อนี้ได้อย่างขึ้นใจ “ทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษ”

“จังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นดินที่เคยเป็นภูเขาไฟเก่า ดินของที่นี้จึงมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ทำให้ทุเรียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กรอบนอกนุ่มใน เปลือกบาง กลิ่นไม่ฉุน ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดเร่งจัดทำมาตรฐาน GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเกษตรกรศรีสะเกษ ปลูกทุเรียน ราว 5,000 ไร่ คิดเป็น 4,500 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 1,200,000 ลูกต่อฤดูกาล (มิ.ย.-ก.ค.)”[1]นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

นายเสริม หาญชนะ เจ้าของสวนลุงเสริม ในพื้นที่หมู่ 8 ต.พราน อ.ขุนหาน จ.ศรีสะเกษ ถือเป็นเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟรุ่นบุกเบิก ที่พลิกชะตาชีวิตจากเกษตรผู้อุดมด้วยหนี้สิน กลายเป็นเกษตรกรผู้มั่นคั่งในปัจจุบัน รายได้จากการขายทุเรียน และผลไม้แซมสวนอื่นๆไหลเข้ากระเป๋าเป็นตัวเลข 7 หลักต่อปี

“ทั้งชีวิตเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด สู้มาตลอด ทดลองทำมาหลายอย่าง ทั้งปลูกมันสะประหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไผตง สุดท้ายก็ขาดทุน ในระยะต่อมาก็ทดลองปลูกฝรั่ง ขณะเดียวกันก็ทำอาชีพค้าขายด้วย เป็นรถเร่ขายจำพวกอาหาร ขายผลไม้ ถึงหน้าทุเรียน ก็ไปรับผลไม้จากทางจังหวัดจันทรบุรี มาขายทำอย่างนี้หลายปี ก็เลยมาเอะใจว่า อยากทดลองนำทุเรียนมาปลูกที่ศรีสะเกษจะได้ไหม...?” ลุงเสริมเล่าที่มาที่ไปกว่าจะกลายเป็นสวนทุเรียนที่มีคนนิยมปักหมุดบนโลกโซเชียลในอันดับต้นๆ ของจังหวัด

“ประมาณปี 2540 ตัดสินใจว่าอยากทดลองปลูกทุเรียน จึงขุดดินใส่กระสอบปุ๋ย เอาไปให้เจ้าของสวนทุเรียนที่เมืองจันทร์ดู ปรากฏว่าเมื่อเห็นดินแล้ว เจ้าของสวนบอกว่าเป็นดินดี เหมาะที่จะปลูกได้ จากนั้นจึงซื้อต้นพันธุ์มา 100 ต้น ปลูกในพื้นที่ 5 ไร่ การดูแลรักษาก็ใช้วิธีศึกษาเอง ไม่รู้ก็ถาม อีกอย่างด้วยความที่เราทำเกษตรมาแทบจะทุกรูปแบบ ส่งผลให้ใจสู้หมั่นศึกษาและที่สุดก็ได้ผลผลิตรุ่นแรกเมื่อปี 2545 จากนั้นก็ค่อยๆขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ และนำผลไม้อื่นๆมาปลูกแซมสวน ทั้งเงาะ ชมพู่ มังคุด ลองกอง เท่ากับว่าเมืองจันทร์ปลูกอะไรได้ผล ที่ศรีสะเกษก็ปลูกได้และให้ผลผลิตที่ดีไม่แพ้กัน

ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมกันพัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะทุเรียนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษไปแล้ว เช่น สำนักงานเกษตรก็เข้ามาทั้งให้ความรู้ และร่วมศึกษาทดลองเฝ้าระวังโรคต่างๆอย่างต่อเนื่อง พัฒนาชุมชน ก็เข้ามาให้ความรู้เรื่องการต่อยอดต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องกิจกรรมศึกษาดูงาน ช่วยวางแผนว่าควรจะมีกิจกรรมอะไรบ้างลงไป เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ความรู้ไปต่อยอดขยายผลได้”ลุงเสริมกล่าว

สวนลุงเสริมได้ขยายพื้นที่กว่า 20 ไร่ เฉพาะทุเรียน 500 ต้น มีพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก รองลงมาคือก้านยาว ชะนี พวงมณี ตามลำดับ และเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตร ใครผ่านไปผ่านมาก็สามารถเข้าไปชิมผลไม้สดๆจากสวน อยากได้ความรู้ก็บอกเล่าทุกเรื่องราวตอบทุกคำถามอย่างไม่กั๊ก

... ผ่านไปผ่านมา ก็ลองแวะชมแวะชิม ได้อรรถรสกลมกล่อมแค่ไหน อย่าลืมบอกต่อด้วยนะครับ 

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก FB สวนลุงเสริม ขุนหาญ

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube