“RAYONG GO TO ECO TOWN 2020”


“บึ้ม…!!! สนั่น ไฟลุกท่วม เร่งอพยพชาวบ้านกลางดึก...”

“ร้องผู้ว่าฯ เร่งตรวจสอบ รง.ปล่อยน้ำลงคลอง ปลาลอยตายเกลื่อน...”

“ชาวบ้านรวมตัวชูป้าย ค้านขยาย รง.เฟส 2...”
ฯลฯ

พาดหัวข่าวผ่านสื่อในทำนองดังกล่าว มีให้เห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะพื้นที่ ที่มีโรงงอุตสาหกรรมอยู่อย่างหนาแน่น ปัญหาคืออะไร ทางออกควรเป็นอย่างไร การหันหน้าเข้าหากันสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจร่วมกัน สร้างอรรถประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญยิ่งขึ้น

จังหวัดระยอง เป็นอีกพื้นที่ที่ค่อนข้างมีข่าวผ่านสื่อเช่นนี้ บ่อยครั้งแต่ในการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ตลอดถึงสื่อมวลชนส่วนกลาง ยังคงมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหมักหมมยาวนาน ยากจะแก้ไขเยียวยา แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอเพราะความรักที่มีให้ต่อจังหวัดระยอง สร้างพลังอย่างมหาศาลเพื่อร่วมกันสร้างเมืองระยองให้น่าอยู่

ภาคประชาสังคม ตลอดจนหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่ระยองเริ่มหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น มีเวทีที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลถกปัญหาอย่างเปิดอกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะจังหวัดระยองคือเสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าการลงทุนนับล้านล้านบาท สร้างงานหลายแสนอัตรา

“จะให้เขาปิดโรงงาน ไม่ให้เขาก่อสร้างอีกต่อไป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องรู้จักคำว่าน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า โรงงานก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย จึงจะอยู่ด้วยกันยาวๆ” เสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคม เปิดประเด็นขึ้นในวง “ประชุมเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network)” จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจังหวัดระยองนำร่อง Eco Network.ในสองพื้นที่ได้แก่  ในพื้นที่มาบตาพุบและเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี

ซึ่งหัวใจหลักของงานคือการสร้างความสมดุลให้เกิดความยั่งยืน อุตสาหกรรมอยู่ได้ชุมชนอยู่ด้วย WIN-WIN และ FAIR FAIR

บทสรุปฉบับกระชับจากเวทีพบว่า
          ประเด็นปัญหาในจังหวัดระยอง คือ ความไม่สอดคล้องของการจัดสรรงบประมาณลงมาสู่จังหวัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่เป็นไปได้อย่างยากลำบากเนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนการสร้างสรรค์กิจกรรม แม้ว่าจังหวัดระยอง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในลำดับต้นๆของประเทศ แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดน้อยมาก นอกจากนี้ยังพบว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่เด็ดขาดเท่าที่ควร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังใช้ลักษณะการพิจาณาด้วยดุลยพินิจ
          ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ายังขาดกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมีแบบแผน จึงทำให้มีความเข้าใจผิดกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น เรื่องน้ำเสีย ยังมองว่าเป็นผลมาจากการประกอบกิจการของโรงงานแต่ข้อมูลเชิงวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับพบว่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสีย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นยังไม่มีการเผยแพร่ในวงกว้างและยังไม่มีการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงส่งผลต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มองปัญหาคนละมิติกัน

ใช้ความเป็นเครือข่ายสร้างพลังขับเคลื่อน
          จังหวัดระยองมีต้นทุนของเครือข่ายค่อนข้างสูง สมาชิกของแต่ละเครือข่ายมีการเกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่น หากมีการเชื่อมโยงกันจะนำมาสู่พลังขับเคลื่อนที่ทรงพลังจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันสำรวจเครือข่ายพบว่ามีเครือข่ายต่างๆอยู่อย่างคอบคลุม เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อาสาสมัครพิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสม.) สภาองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อชุมชน องค์กรอิสระเครือข่ายเยาวชน ภาคท้องถิ่น/ท้องที่/ภาครัฐ เทศบาล(อปท.) สสจ./รพ./อนามัย ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสจ.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ภาคอุตสาหกรรม/ผู้ประกอบการ  

เห็นเครือข่ายแล้วกระจายงานกันลุย...!!!
          ในที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันว่าคณะทำงานเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเคลื่อน แต่คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางนั้นมีความเป็นทางการและมีโครงสร้างที่ใหญ่มาก ความคล่องตัวในการดำเนินงานอาจจะน้อย จึงมีการเสนอว่าควรมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่มาจากทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีวาระการประชุม 3 เดือน/ครั้ง โดยหลังจากมีอนุกรรมการดังกล่าว วาระแรกของการประชุม คือเตรียมงานเปิดตัว (Big event.) เพื่อเป็นการประกาศตัวสู่สาธารณะว่า ชาวจังหวัดระยองพร้อมใจจับมือกันก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งภาพการเปิดกิจกรรมดังกล่าวจะเสมือนเป็นสัญญาประชาคมว่าทุกเครือข่ายใน จังหวัดระยองจะผนึกกำลังกันเป็น “Eco Network.” ที่แข็งแกร่ง โดยอาศัยศักยภาพของเครือข่ายที่มีอยู่เป็นจุดเริ่มต้น และจะทำกิจกรรมสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกัน
          นอกจากนี้กระบวนการการเชื่อมโยงเครือข่าย มีความสำคัญยิ่ง ที่ประชุมได้ข้อสรุปเป็นแนวทางในเบื้องต้น คือ ให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชนกลางขึ้นเพื่อดำเนินการในการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่นั้นๆและนำมารวบรวมเข้าเป็นศูนย์ข้อมูลกลางของพื้นที่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆผ่านสื่อ Social เช่น Fanpage Facebook หรือการสร้างกรุ๊ป Line  รวมไปถึงการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านเว็บไซต์กลางอย่าง www.roypalang.org / เว็บไซต์อุตสาหกรรมจังหวัด / สาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น โดยทุกเครือข่ายจะร่วมกันอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และใช้เป็นฐานข้อมูล (Data base.)ที่ สามารถเชื่อมเป็นเครือข่าย Eco Network ได้ทันที

RAYONG GO TO ECO TOWN 2020” เมืองแห่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบของประเทศ จะขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นได้หรือไม่ ช่วยเป็นกำลังใจให้กัน สู่ปลายทางที่วาดหวังไว้ครับ 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube