การเจรจาต่อรอง 'พนักงาน-ฝ่ายบริหาร' ช่วงปลายปี


 
ข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ระบุว่าช่วงระหว่างเดือนตุลาคม -20 พฤศจกายน 2558 มีลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องการขอปรับขึ้นเงินเดือน เงินโบนัสและสวัสดิการต่าง ๆ ต่อนายจ้างแล้ว 127 แห่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.สมุทรปราการ จ.ปทุมธานี จ.อยุธยา และ จ.ปราจีนบุรี นอกจากนี้เมื่อล่วงเลยมาถึงช่วงเดือนธันวาคม ก็พบว่าหลายแห่งมีการยื่นพิพาทแรงงานรวมถึงการออกมาประท้วงหน้าสถานประกอบการ ซึ่งเป็นภาพที่เราเห็นชินตาในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในช่วงปลายปี
 
มุมมองต่อเรื่องนี้ก็มีหลากหลายกันไป เข้าข้างพนักงานบ้าง เข้าข้างนายจ้างบ้าง (อันมีผู้บริหารเป็นตัวแทนเจรจา) แล้วแต่ประสบการณ์ส่วนตัว เช่น ถ้าหากมีประสบการณ์กับสหภาพแรงงานก็จะเห็นอกเห็นใจฝ่ายพนักงาน หรือหากเป็นผู้ประกอบการรายย่อยก็อาจจะมีมุมมองที่เข้าข้างฝ่ายนายจ้าง เป็นต้น ทั้งนี้การเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การเรียกร้องโบนัส และอื่น ๆ นั้น เป็นหนึ่งในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ที่มีวิวัฒนาการมายาวนานร่วมร้อยปีในสังคมอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
 
ซึ่งท้ายสุดแล้วไม่มีคำว่า 'แพ้-ชนะ' แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการ 'หาทางออกร่วมกัน' (จากการต่อรอง) และถึงแม้แต่ละฝ่ายอาจจะไม่ได้บรรลุสิ่งที่ตนอยากได้สูงสุด แต่ข้อสรุปจากการเจรจาก็สามารถทำให้สองฝ่ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่และอยู่ร่วมกัน ... จนกว่าจะถึงฤดูกาลเจรจาในครั้งต่อไป
 

ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

การยื่นข้อเรียกร้องขอปรับปรุงสภาพการจ้าง 

ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างเห็นว่าสภาพการจ้าง เช่น ค่าจ้าง สวัสดิการ วันเวลาทำงานไม่เหมาะสม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติให้ลูกจ้างหรือนายจ้างมีสิทธิยื่นข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น ปรับค่าจ้าง เงินเดือน จัดรถรับส่ง ชุดทำงาน วันเวลาทำงาน เป็นต้น และให้ทั้งสองฝ่ายตั้งผู้แทนมาเจรจาต่อรองกัน เมื่อตกลงกันได้ สภาพการจ้างก็เป็นไปตามข้อตกลงนั้น ซึ่งเรียกว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

เมื่อไรจึงจะยื่นข้อเรียกร้องได้

- กรณีที่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างมาก่อนจะยื่นเมื่อไรก็ได้
- กรณีมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมาก่อน ให้ยื่นก่อนข้อตกลงเดิมจะหมดอายุ ภายใน 60 วัน

ข้อเรียกร้องที่ถูกต้อง 

- ต้องทำข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ
- กรณีลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง ต้องมีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องลงรายมือชื่อ และลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น
- กรณีสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้อง ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบกิจการนั้น โดยไม่ต้องแนบรายชื่อของสมาชิก
- ระบุชื่อผู้แทนในการเจรจาจำนวนไม่เกิน 7 คน

การเจรจาต่อรอง 

- ต้องเริ่มเจรจากันครั้งแรกภายในเวลา 3 วัน โดยฝ่ายที่รับข้อเรียกร้องต้องแจ้งชื่อผู้แทนในการเจรจาและเริ่มต้นเจรจาต่อรองกัน
- ถ้าตกลงกันได้ให้ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และผู้แทนของทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อร่วมกัน ให้นายจ้างปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบ และนำข้อตกลงไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่ตกลงกันได้

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน 

- เมื่อเจรจากันแล้วตกลงกันไม่ได้ หรือไม่มีการเจรจากันภายใน 3 วัน ให้ฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบโดยด่วนภายใน  24 ชั่วโมง
- พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจะนัดผู้แทนทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยโดยเร็วที่สุดโดยมีระยะเวลา 5 วัน
- ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ห้ามนัดหยุดงานหรือปิดงาน ถ้าลูกจ้างนัดหยุดงานเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาจถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ เลย และถ้านายจ้างปิดงานก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาจมีโทษทางอาญาได้
- ถ้าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันได้ให้ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และให้นายจ้างนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานภายใน 15 วัน
- สำหรับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการที่สำคัญ เช่น การผลิตจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ลูกจ้างไม่มีสิทธินัดหยุดงาน และนายจ้างไม่มีสิทธิปิดงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจะส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัย และหากคู่กรณีไม่พอใจคำวินิจฉัย มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ เมื่อรัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วถือเป็นยุติทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

การนัดหยุดงานหรือปิดงาน 

- หากพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ลูกจ้างมีสิทธินัดหยุดงาน นายจ้างมีสิทธิปิดงาน เพื่อกดดันให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อเรียกร้องของตน สำหรับลูกจ้างที่ต้องการนัดหยุดงานหรือนายจ้างที่ต้องการปิดงาน ต้องทำหนังสือแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งและพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบโดยด่วน หลังจากแจ้งแล้ว 24 ชั่วโมง จึงนัดหยุดงาน หรือปิดงานได้
- ในกรณีที่สหภาพแรงงานเป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้องและจะหยุดงานต้องจัดประชุมใหญ่ลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ เพื่อขอความเห็นชอบจากสมาชิกและต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดตามทะเบียนจึงจะหยุดงานได้
- ระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงาน ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง เนื่องจากไม่มีการทำงานเกิดขึ้น
- หากไม่ต้องการนัดหยุดงาน ทั้งสองฝ่ายจะเจรจากันต่อไป หรือแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยเกลี่ยต่อไปจนกว่าจะตกลงกันก็ได้หรืออาจใช้วิธีการตั้งผู้ชี้ขาดดังกล่าวคู่กรณีต้องปฏิบัติตาม
- หากท่านไม่เข้าใจในขั้นตอนข้างต้นห้ามปิดงานหรือนัดหยุดงานเด็ดขาด โปรดปรึกษาพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ทุกพื้นที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักแรงงานสัมพันธ์

ถ้าเกิดข้อขัดแย้งจะทำอย่างไร

- ปรึกษาหารืออีกฝ่ายหนึ่งด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหา เพราะผู้ที่รู้ปัญหาดีที่สุดและจะได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างนั่นเอง
- ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ หรือคณะกรรมการลูกจ้าง
- ปรึกษาหารือกับพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานใกล้สถานประกอบกิจการของท่านโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ

 
 
หมายเหตุ: ที่มาภาพประกอบจาก jwj.org

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube