วิสาหกิจเพื่อสังคม ตามคุณลักษณะของวิสาหกิจเพื่อสังคมในยุโรปที่ประมวลโดย Emergence of Social Enterprises in Europe (EMES)


คำ แนวคิด ความหมายของกิจการเพื่อสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ก่อเกิดจากสังคมฐานล่าง

ดร.สุนทร คุณชัยมัง

Image Plus Communication

 

[5]

วิสาหกิจเพื่อสังคม (2)

ตามคุณลักษณะของวิสาหกิจเพื่อสังคมในยุโรป ที่ประมวลโดย Emergence of Social Enterprises in Europe : EMES (http://emes.net)

          EMES เป็นเครือข่ายเพื่อการวิจัยของยุโรป (European Research Network) ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยเป็นรวมนักวิจัยมาจากทั่วยุโรป 15 ประเทศ ตามการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมก่อนที่จะรวมตัวกันเป็น EU เป็นการรวมตัวสร้างความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและนักวิจัยเอกชน ที่มีความสนใจจะร่วมกันค้นหาคำอธิบายทางทฤษฎีและการอธิบายความรู้ ความหลากหลายของหลักการ และวิธีการของที่ต่างๆ ในยุโรปที่เกี่ยวข้องกับ Social Enterprise, Social Entrepreneurship, Social Economy, Solidarity Economy and Social Innovation.

          ฌาคส์ เดอโฟร์นี (Jacques Defourny) และมาร์เธ นีส์เสนส์ (Marthe Nyssens) นักวิจัยคนสำคัญของ EMES ได้ประมวลลักษณะของ Social Enterprise ในยุโรปไว้ 5 กลุ่มด้วยกัน คือ (1) แบบยุโรปตอนใต้ ที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจากขบวนการสหกรณ์ในอิตาลีและโปรตุเกส เป็นตัวอย่างของการขยายกรอบการบริการจากการทำงานเพื่อตอบสนองต่อสมาชิก เป็นการทำงานเพื่อตอบสนองและร่วมจัดการแก้ไขปัญหาที่รวมไปถึงครอบครัวของสมาชิกและชุมชนของสมาชิก (2) กลุ่มยุโรปตอนกลาง เช่น เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมัน และไอร์แลนด์ (หรือกลุ่มประเทศที่เรียกว่า Bismarckian countries) มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อร่วมจัดการต่อสังคมมาก่อนหน้าแล้ว เป็นบริษัทแบบไม่มุ่งเน้นที่จะแสวงหากำไรเพื่อนำเอากำไรนั้นไปแบ่งปันเป็นรายได้ของผู้ถือหุ้น (Non - profit private organizations) ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นตัวกลางในการบริการทางสังคมและระบบเศรษฐกิจเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชุมชนและท้องถิ่นเป็นหลัก (3) กลุ่มประเทศนอร์ดิก ที่รัฐและกิจการเอกชนจะเน้นความรับผิดชอบต่อสวัสดิการสังคม ยิ่งกว่านั้นยังเพิ่มการให้ความสำคัญต่อการขยายบทบาทของสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์คนงาน การปฏิรูปกิจการสังคม/พยาบาล และเด็ก (4) ในอังกฤษ เป็นประเทศที่มุ่งพัฒนาให้เป็นไปตามรูปแบบของกิจการแบบกึ่งเศรษฐกิจการตลาด (Quasi - market) กล่าวคือ รัฐบาลสนับสนุนให้องค์กรของรัฐ สังคม และเอกชนที่มุ่งกำไร ร่วมแข่งขันจัดการในเรื่องทางสังคมด้วยวิธีการแข่งขันทางการตลาด ดังจะเห็นได้จากนโยบายการจัดการสาธารณสุขในชุมชนที่รัฐบาลกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นจัดการ (5) กิจการ Social Enterprise ในยุโรปตะวันออก ซึ่งมุ่งเน้นต่อการรองรับต่อปัญหาการเปลี่ยนผ่านลักษณะอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ใช้แรงงานไร้ทักษะเป็นแรงงานที่มีทักษะ ด้วยการส่งเสริมพัฒนาทักษะแรงงานร่วมกับรัฐและภาคธุรกิจ

          ด้วยการนิยามคำจำกัดความของ Social Enterprise ที่มีอยู่ด้วยกันหลากหลาย ไปตามคุณลักษณะของปัญหาและบริบททางสังคมของแต่ละประเทศ EMES จึงได้สรุปคุณลักษณะร่วมของ Social Enterprise ว่า เป็นการประกอบการขององค์กรเอกชนแบบไม่แสวงหากำไร (Not - for - profit private organizations) ที่มีองค์ประกอบในมิติทางเศรษฐกิจและการประกอบการ และมิติทางสังคม ร่วมกัน (บางเรื่องจะแตกต่างกันไปตามความจำเป็นและการให้น้ำหนัก) ดังนี้

  1. มิติทางเศรษฐกิจและการประกอบการ 4 ประการ คือ
    1. ความต่อเนื่องของกิจการการผลิตและ/หรือการขายบริการ
    2. การดำเนินการด้วยตนเอง - อยู่ในระดับสูง
    3. คำนึงและรับรู้ในความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
    4. มีการจ้างงานต้องไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ
       
  2. มิติทางสังคม 5 ประการ คือ
    1. กำไรของกิจการเป็นไปเพื่อสนับสนุนต่อสังคม
    2. ริเริ่มโดยการรวมกลุ่มของพลเมือง
    3. อำนาจการตัดสินใจไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเจ้าของทุน
    4. การมีส่วนร่วมเป็นคุณสมบัติเบื้องต้น - ผันแปรไปตามกลุ่มกิจกรรม
    5. จำกัดการแบ่งปันผลกำไร

          อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของ Social Enterprise ที่ประมวลข้างต้น กล่าวได้ว่า เป็นคุณลักษณะร่วมของวิสาหกิจที่ดำเนินงานกันอยู่ในยุโรป ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงควรที่จะมีการศึกษาเรื่อง Social Enterprise นี้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นและโดยเฉพาะอย่างในประเทศกำลังพัฒนา

 

บรรณานุกรม :

Defourney,Jacques and Nyssens, Marthe (2010). ‘Conceptions of Social Enterprise and

Social Entrepreneurship in Europe and the United States : Convergences and

Divergences’, Journal of Social Entrepreneurship, 1-1,32 - 53

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube