วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน


วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน
ที่ตั้ง 130 หมู่ 4 ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 55000

ปลายปี พ.ศ. 2550 ได้เกิดการก่อตั้งกลุ่มชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ขึ้น จากแนวคิดของชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ต้องการทำน้ำยาล้างจานใช้เองเพื่อลดรายจ่ายและลดการใช้สารเคมีในครัวเรือน โดยเห็นว่าทุกอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวันต้องซื้อ จึงได้เริ่มต้นรวมกลุ่มกันทำน้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพ ซึ่งผลิตจากน้ำมะกรูด - มะนาว น้ำเกลือ น้ำขี้เถ้า และหัวเชื้อแชมพู เพื่อใช้ล้างจาน ซักเสื้อผ้า ทำวามสะอาดห้องน้ำ ล้างรถ และอื่นๆ โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลน้ำเกี๋ยนเป็นวิทยากรให้ความรู้ฝึกอบรม พาไปศึกษาดูงานที่สถานีอนามัยตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มผลิตน้ำยาเอนกประสงค์ไว้ใช้ในครัวเรือน ชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันเริ่มเห็นประโยชน์ว่าได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและปลอดภัยต่อการใช้

ต่อมาแกนนำและสมาชิกกลุ่มจึงได้เล็งเห็นว่า สมุนไพรในชุมชนมีมากมายและมีภูมิปัญญาแต่โบราณ ที่ยังมีผู้ปฏิบัติกันอยู่ ได้แก่ การนำสมุนไพรใบหมี่มาผสมดอกอัญชันและน้ำซาวข้าวสระผม จึงได้เริ่มต้นทดลองนำสมุนไพรและภูมิปัญญาดังกล่าวมาทดลองทำแชมพูสมุนไพรจากใบหมี่และดอกอัญชันเพื่อใช้กันเองในครัวเรือนและพัฒนาสูตรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

จากนั้นได้เกิดการระดมทุนจากสมาชิก เริ่มต้นมีจำนวน 79 คน ได้เงินทุนจำนวน 59,900 บาท เพื่อขยายการดำเนินงานมาสู่การผลิตแชมพูสมุนไพรใบหมี่ดอกอัญชัน และน้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพ เพื่อจำหน่าย ตลอดจนขยายมาสู่การผลิตสบู่เหลวและสบู่ก้อน โดยนำพืชสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น เช่น ใบหมี่ ดอกอัญชัน มะเฟือง มะขาม มะกรูด ขมิ้น มาเป็นวัตถุดิบ ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและควบคุมคุณภาพการผลิต จากสถานีอนามัยตำบลน้ำเกี๋ยน โดยให้ยืมใช้อาคารห้องเก็บของปรับปรุงเป็นสถานที่ผลิตที่ถูกสุขลักษณะ  และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการปลูกและพัฒนาพันธุ์สมุนไพรจากศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลน้ำเกี๋ยน พัฒนาผลิตภัณฑ์จนมีคุณภาพ ผู้ที่ใช้แล้วเกิดการบอกต่อ ปากต่อปาก ทำให้กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย  นำรายได้มาสู่ชุมชน เพิ่มโอกาสให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ และยังเสริมสร้างให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรแบบธรรมชาติอีกด้วย

วิสาหกิจชุมชนชีววิถีได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 มีสมาชิก 675 คน (250 หลังคาเรือน) สมาชิกส่วนใหญ่จะปลูกสมุนไพรไว้ที่สวน ที่หน้าบ้านหลังบ้าน เช่น มะกรูด ขมิ้น ไพล ดอกอัญชัน มะเฟือง ตะไคร้หอม ฯลฯ และนำมาจำหน่ายที่กลุ่ม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอางสมุนไพรต่อไป โดยผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้ตรารับรอง BIO จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ว่านำสมุนไพรจากในชุมชนมาใช้ประโยชน์จริงและสามารถทำรายได้สู่ชุมชน  ผู้บริโภคมีความพึงพอใจ เพราะสินค้าทุกประเภทเน้นการใช้สมุนไพรในปริมาณที่มากและใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด และจำหน่ายในราคาไม่แพง  จึงมียอดการสั่งซื้อเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กลุ่มมีตลาดที่แน่นอนและก่อเกิดรายได้ที่ยั่งยืน  

รูปแบบการดำเนินงาน “เป็นธุรกิจของชุมชนในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน” ซึ่งทุกคนที่ถือหุ้นเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน  มีการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารจำนวน 21 คน ส่วนการดำเนินงานผลิตและบรรจุเครื่องสำอางสมุนไพร การตลาด การทำบัญชีรับจ่าย มีพนักงานประจำ ซึ่งเป็นแรงงานจากคนในชุมชน สมาชิกที่เหลือส่วนใหญ่ทำหน้าที่ปลูกสมุนไพรเป็นแหล่งวัตถุดิบ

หลักการบริหารจัดการของวิสาหกิจชุมชน
ด้านการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ดำเนินการ มาจากทุนที่ระดมจากสมาชิกและผลกำไรในแต่ละปี โดยไม่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินแต่อย่างใด การดำเนินงานมีนโยบายพึ่งตนเอง และเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป บริหารจัดการบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ด้านการบริหารยึดหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใสของการเงินบัญชี ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ควบคู่กับหลักคุณธรรมจริยธรรม ในการเป็นผู้ผลิตสินค้าที่เน้นคุณภาพเป็นสำคัญ  มีสำนึกที่ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้บริโภค

การมีส่วนร่วมของชุมชน
วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ก่อเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่วนราชการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยแนวคิดแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีในครัวเรือนและต้องการลดรายจ่ายในครัวเรือน  จึงได้รวมตัวกันขึ้น และเมื่อต้องพัฒนาต่อเนื่องก็ได้มีการระดมทุน ระดมความคิด ระดมกำลังสติปัญญา เรียนรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน “ร่วมคิด - ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ - ร่วมดำเนินการ -  ร่วมติดตามตรวจสอบ - ร่วมรับผลประโยชน์” 

ผลผลิตด้านผลิตภัณฑ์โอทอป ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพร แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. เครื่องสำอางสมุนไพร ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 35 รายการ จ้ำหน่าย 2 ยี่ห้อ คือ ชีวาร์ และชีวาน่า
     ชีวาร์ มีวางจำหน่ายทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ส่วนชีวาน่า เป็นผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียม  ผลิตเพื่อวางจ้ำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Tops Supermaket  ในเครือบริษัทเซ็ลทรัลฟูดรีเทล จ้ากัด  ปัจจุบันวางจำหน่ายแล้ว 22 สาขาทั่วประเทศ
2. สมุนไพรอบแห้ง บดผง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ลูกประคบ ยาหม่องสมุนไพร ยาดมสมุนไพร น้้ามันไพล สมุนไพรอบตัว สมุนไพรแช่เท้า เป็นต้น
3. ชาชงสมุนไพร ได้แก่ ชาเชียงดา ลดน้้าตาลในเลือด  ชาเจียวกู่หลาน  และชาอัญชันใบเตย

ผลประกอบการของวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2551 - 2558 มีผลประกอบการรวมมูลค่า 16 ล้านบาท ในระยะเวลา 8 ปี มีผลกำไรเฉลี่ยปีละ 250,000 บาท นับว่าเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจชุมชน

สมาชิกได้ประโยชน์จากการนำสมุนไพรมาจำหน่าย ทำให้มีรายได้เพิ่ม เป็นรายได้เสริมจากรายได้หลัก ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร สมุนไพรที่สมาชิกนำมาจำหน่าย เช่น มะกรูด มะนาว ตะไคร้แกง ตะไคร้หอม ดอกอัญชัน ใบหมี่ ใบบัวบก มะเฟือง ว่านหางจระเข้ ขมิ้น ไพล ใบเชียงดา เป็นต้น รายได้ของการจำหน่ายแตกต่างกันไปตามปริมาณของสมุนไพรที่แต่ละคน ตั้งแต่  100 - 1,500 บาท/คน/เดือน

สร้างงานในชุมชน  สมาชิกที่มาทำงานเป็นฝ่ายผลิตและฝ่ายขายมีรายได้ เฉลี่ยเดือนละ 6,000 - 12,000 บาท โดยปัจจุบันมีสมาชิกที่มาทำงานเป็นพนักงานของวิสาหกิจชุมชนชีววิถี จำนวนทั้งหมด 20 คน แบ่งเป็น ฝ่ายผลิตและบรรจุเครื่องสำอางสมุนไพร ฝ่ายขาย ฝ่ายบัญชีและการเงิน ฝ่ายดูแลแปลงสมุนไพรเพาะขยายพันธุ์และกลั่นน้ำมันหอมระเหย มูลค่าในการจ้างงานในปี พ.ศ.2558 เป็นเงิน 780,500 บาท และในอนาคต จะมีการขยายอัตรากำลังคนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งเสริมการจ้างงานในชุมชนมากยิ่งขึ้น เป็นการทำงานในชุมชนใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว ส่งผลดีต่อครอบครัวอีกด้วย

ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูดูแลมากขึ้น จากการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ได้ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความสนใจและให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชสมุนไพรและพืชอาหาร ตลอดจนการอนุรักษ์ป่าชุมชน ทั้งนี้เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกัน ส่งผลเกี่ยวเนื่องกัน เพราะในป่าชุมชนมีสมุนไพรและพืชอาหารหลากหลายที่คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ และมีการดูแลและอนุรักษ์กันมาแต่เดิม เช่น มีกฎกติกา มาตรการในการใช้ประโยชน์ป่าชุมชน มีการทำแนวกันไฟ ทำฝายชะลอน้ำ จึงยังคงรักษาความสมบูรณ์ของป่าชุมชนในพื้นที่รวมกว่า 1,000 ไร่ ไว้ได้อย่างดี วิสาหกิจชุมชนชีววิถีจึงได้ให้การสนับสนุนทุนสาธารณประโยชน์เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสมุนไพร

ข้อมูลโดย มูลนิธิสัมมาชีพ
ภาพจาก www.facebook.com/OTOPNamkian

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube