ความฝันของ ด.ญ.ปรางค์ “เมื่อประเทศไทยไร้ขยะจริง”


เอนหลังฟังเพลง เป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายในวันหยุดหลังกรำศึกตลอดสัปดาห์ แต่เอ!!!!...ทำไม่นั่งฟังเพลงไปกลับคิดอะไรเรื่อยเปื่อย กลับเชื่อมโยงถึงเรื่องงานอยู่ดี หรือว่าเราเข้าใกล้นักคิดแล้วหนอ “งานของนักคิดเวลาออฟฟิศไม่เคยพอ” (555+จำมาจากเพื่อนร่วมงานอีกที)

…………ขยะในถังที่ตั้งริมทาง

เด็กหญิงปรางค์กำลังคุ้ยเขี่ย

เป็นประจำหน้าบ้านผัวเมีย

ที่นั่งดูเหมือนพลเมืองดี  

ยังไม่รู้จะได้อะไร

เปลือกลำไยหรือซองบุหรี่

อยากจะได้หุ่นยนต์ดีๆ

หนูอยากจะมีน้องตุ๊กตา

ถ้าได้ดั่งฝันจะรีบเอาไป

อวดวินัยลูกชายของป้า

ถ้าแขนไม่ครบไม่มีลูกตา

จะให้ลุงมาช่วยเสริมเติมแต่ง  

ขยะในถังตั้งอยู่ในใจ ที่ใสสะอาด

วาดต่อเติม เพิ่มความฝันทุกวันเวลา 

ตุ๊กตานำทางไปทั่ว ตามซอกซอยของเมืองมัวๆ

มือน้อยๆค่อยๆ คุ้ยเขี่ย ............................


เพลงด.ญ.ปรางค์ ของคุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ  กวีศรีโคราชครับผม

ฟังเพลงจบกลับได้คิดเชื่อมโยงถึงเรื่องขยะในบ้านเมืองของเรา ด.ญ.ปรางค์ เสมือนเป็นผู้พิทักษ์ด้านการบริหารจัดการขยะในตัว Reuse ที่เสริมในเรื่องของความอยากได้ตุ๊กตาเป็นเพื่อน กอปรกับความยากจนที่ไม่มีเงินจะซื้อตุ๊กตา  ส่วนป้าก็จะเป็น Repair ที่จะซ่อมแซมให้ตุ๊กตาฟื้นคืนชีพให้กับหลานสาว เพื่อจะได้มีเพื่อนไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ อย่างน้อยก็ยังเป็นสิ่งที่จรรโลงใจหล่อเลี้ยงความฝันน้อยๆของด.ญ.ปรางค์ได้เหมือนกัน

เรื่องการจัดการกับขยะสำหรับในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กระบวนการ 3Rs ณ วันนี้กลายเป็นเรื่องที่เชยไปเสียแล้ว ทุกวันนี้เราต้องมองแบบ 4.0 ปัญหาขยะจะต้องจัดการด้วย 5 Rs

มาดูกันว่านโยบายของประเทศด้านการลดขยะในปี 2560 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นการจัดการขยะ ตามโครงการ Clean Land  มีเป้าหมาย ให้มีการจัดการขยะที่ดี ตั้งแต่การเก็บรวบรวม  กำจัดขยะทั่วไปและขยะอันตราย  มีการลดปริมาณขยะและการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (recycle)  และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ตามแผนปฏิบัติการ 21 (agenda 21) ในการประชุมสุดยอดของโลกด้านสิ่งแวดล้อม (earth summit) เมื่อปี  2535

บ้านเราต้องเรียกว่าแม้พยายามที่จะลดจำนวนขยะให้ได้มากที่สุด แต่ยิ่งรณรงค์ให้ลดแต่ทำไมยิ่งทวีคูณจำนวนขยะมากขึ้น!!!!  หรือว่า  คนไทยเราไม่ยอมทิ้งของเก่า ต้องมีครอบครองทั้งเก่าและใหม่ท่านว่า จริงหรือไม่?  เช่น รถเก่าที่ตกรุ่น ยังวิ่งกันเต็มท้องถนนของประเทศไทย ฮ่าๆๆๆๆๆๆ  หรือเข้าข่าย R ตัวไหน หนอพี่น้อง.....?

เล่ามาถึงตรงนี้อาจจะยังงงๆอยู่ เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จัก กลยุทธ์ในการลดจำนวนขยะตามกรอบ 5Rs กัน ย้ำ...!!!มันไม่ใช่แค่ 3 Rs เหมือนแต่ก่อนแล้วครับผม  

กลยุทธ์ 5Rs  ในการลดจำนวนขยะมีดังต่อไปนี้

 R ตัวแรก คือ Reduce  หมายถึง ลดการใช้ เป็นการลดขยะที่จะทิ้งให้เหลือน้อยลง เลือกซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องการและบรรจุหีบห่อน้อย และมีอายุการใช้งานนานๆ

R ตัวที่สอง Reuse  คือ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ได้แก่ การใช้ซ้ำ นำสิ่งของเครื่องใช้ที่ยังใช้ได้อยู่ มาดัดแปลงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ การใช้ซ้ำๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

R ตัวที่สาม Recycle คือ การรีไซเคิลขยะเป็นการนำเอาวัสดุที่ใช้แล้ว กลับไปเข้ากระบวนการผลิตใหม่ให้เป็นของใหม่ ที่อาจเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิมก็ได้ ได้แก่ พลาสติก โลหะ กระดาษ แก้ว การแปรรูปของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ มีกระบวนการอยู่ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเก็บรวบรวม การแยกประเภทวัสดุ การผลิตหรือปรับปรุง และการนำมาใช้ประโยชน์ ขยะเมื่อผ่านการรีไซเคิลแล้วจะอยู่ในรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยผลิตภัณฑ์ รีไซเคิลจะมีเครื่องหมายลูกศรสีเขียวประทับไว้บนผลิตภัณฑ์ ให้สังเกตกันได้

R ตัวที่สี่ Repair  คือ การซ่อมหรือแก้ไข โดยนำสิ่งของเครื่องใช้ที่แตกหักเสียหาย มาซ่อมหรือแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ได้ต่อได้นั่นเอง

R ตัวสุดท้าย Reject คือ  เป็นหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาขัดพื้น หรือสารเคมีอื่นๆ  หมายถึงการหลีกเลี่ยงขยะพิษ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย ไม่ควรนำภาชนะเปล่าที่เคยบรรจุสารเคมีอันตรายมาใส่วัสดุอื่นโดยเด็ดขาด รู้จักปฏิเสธ หรืองดการใช้สิ่งของที่เห็นว่า เป็นการทำลาย ทรัพยากรและสร้างมลพิษ ให้เกิดขึ้นแก่ สิ่งแวดล้อม

อาจมองได้ว่า  ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการขยะของเมืองไทย ที่มีการแก้ไขไปแล้วแต่ก็ยังเกิดปัญหาที่ต้องอาศัยการทำงานจากทุกภาคส่วน คือ

1. ปัญหาด้านสถานที่ตั้งโครงการและการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการ ที่ภาคหน่วยงานรัฐบาลหรือท้องที่ ท้องถิ่น ไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจกับภาคประชาชนหรือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งว่า ทำไมต้องมี ค.2

2. ปัญหาด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดจากระบวนการทางเทคนิคหรือความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ชาวบ้านหรือแม้กระทั่งชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาก็อาจจะเข้าไม่ถึงรูปแบบหรือวิธีการจัดการขยะมูลฝอยพูดภาษาชาวว่า คือ มันคืออีหยังหนอบ่..เคยเห็น..บ่เคยฮู้...และการแปลงภาษาเทคนิคให้เป็นภาษาชาวบ้านใครทำได้บ้าง แม้แต่วิศวกรก็เว้าแต่ภาษาอังกฤษครับผม!!!!!!!

3. ปัญหาในการจัดการขยะภาคครัวเรือนและการรณรงค์จากภาครัฐ เป็นการร่วมมือของหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดกับหน่วยงานระดับประเทศคือรัฐบาลต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องเหมือนคู่บ่าวสาว ยินยอมทำตามกันทั้งคู่อันเห็นแก่ประโยชน์ส่วนประเทศ และความสะอาดครับ

4. ปัญหาด้านแหล่งเงินทุนสนับสนุนโครงการ อันนี้ต้องยอมรับว่า มีนักการเมืองหรือสถานประกอบการที่มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติที่ต้องการจะร่วมทุนในการแก้ไขปัญหาเรื่อง ขยะในประเทศไทยเราเป็นจำนวนมาก  แต่หากว่า ติดเรื่อง พ.ร.บ.ร่วมทุน!!! กับเพื่อนชาวต่างชาติ  แต่ถ้าหากว่า เราลองมองย้อนกลับไปดูว่า ประเทศต่างๆ ที่พยายามเข้ามาสนับสนุนไม่ว่าด้านการลงทุน หรือความรู้ทางวิชาการ ก็ยังถูกกีดกันจากผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือนักลงทุนที่สูญเสียประโยชน์ ท่านว่าจริงหรือเปล่าครับ?

หากว่าเราจะหาข้อดีของการจัดการขยะที่ได้ผล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนยอมรับและเห็นว่าเรื่อง ขยะเป็นเรื่องของทุกคน แต่เด็กสามารถที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามได้อย่างไม่มีข้อแม้ หากว่า มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน การรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม

จากรูปกระบวนการเปรียบเทียบลำดับการจัดการขยะมูลฝอยกลยุทธ์  5Rs  ในต่างประเทศอาจจะเหลือ 3Rs ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของประเทศ  แต่คุณพี่ประเทศไทยของเราเล่า เป็นเช่นนี้นี้เอง!!!!

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปแรกเป็นการเปรียบเทียบในเรื่องของการลดขยะมูลฝอย แต่การบริหารจัดการที่เต็มรูปแบบที่ได้ผลดังรูปภาพกรวยข้างล่าง แต่การมองกรอบแนวคิดในการจัดการขยะของไทยกับต่างประเทศมักจะสวนทางกันเสมอ ดังรูปภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : กองส่งเสริมและเผยแพร่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ปรับปรุง โดย จุฑามณี จาบตะขบ 2560

การจัดการขยะของต่างประเทศพยายามคิดว่า ขยะคือ เชื่อเพลิงและเป็นสิ่งที่มีค่า สามารถที่จะนำมาทำเป็นเชื้อเพลงในโรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือแม้แต่การผลิตกระแสไฟฟ้า จะเห็นว่าชาวบ้านมีความตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อขยะ

ผมยอมรับว่า การสร้างพื้นฐานเรื่องขยะ การคัดแยกขยะในครัวเรือน มีความรับผิดชอบ ทำตามกฎหมายและหน้าที่ของตนเอง ช่วยกัน ร่วมมือกันอย่างเป็น จึงกลายเป็นเหตุว่า ในประเทศสวีเดนต้องนำเข้าขยะปีละ 800,000 ตัน เพื่อนำมาป้อนโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า[1] และเศษเถ้าหรือฝุ่นที่เหลืออยู่ที่ไม่เป็นประโยชน์ก็นำไปฝังกลบ ซึ่งจะเหลือจำนวนน้อยมาก

แต่ประเทศไทยมองมุมกลับว่า ขยะคือสิ่งเน่าเหม็น เชื้อโรค ผลักดันให้พ้นหน้าบ้านของฉัน 5Rs ที่กลับด้านกับต่างประเทศ และปัญหาขยะสามเส้า ที่เกิดจากสาเหตุ สถานการณ์ขยะที่ไม่คงที่[2]  จนทำให้ฝ่ายกำหนดนโยบายหรือในการจัดการขยะมูลฝอยในแต่ละพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มศักยภาพ และไม่ไว้วางใจในความสามารถของท้องถิ่นด้วย  ฝ่ายที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติหรือท้องถิ่น บอกว่านโยบายดีแต่ทำไดยาก ไม่มั่นใจกระบวนการจัดสรรงบประมาณขาดฐานข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งจำนวนขยะมูลฝอยไม่เพียงพอในการทำพลังงานและกรวงพลังงานไม่ให้ความสำคัญของท้องถิ่น  และฝ่ายท้องถิ่น-ผู้ปฏิบัติรู้ปัญหาในด้านไม่มีสถานที่และระบบการจัดการขยะมูลฝอย ขาดงบประมาณ รวมทั้งท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่ถูกปิดกั้นข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ และไม่ชัดเจน และด้านกระทรวงพลังงานจะมองเห็นแต่ท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่เหมาะแก่การลงทุน อีกทั้งเป็นผู้สนับสนุนและขัดแย้งกับนโยบายการจัดการขยะเสียเอง

 

หากว่าประเทศไทยสามารถทำตามให้เป็นรูปกรวยกลับหัวได้ ชีวิตของ ด.ญ.ปรางค์จะเป็น เช่นไรหนอ คงจะได้ความอบอุ่นจากพลังงานไฟฟ้าที่มาจากขยะ หรืออาจจะได้หุ่นยนต์ที่เป็นขยะอิเลคทรอนิกส์ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน หรือท่านทั้งหลายว่า อย่างไร???? ครับ

 

โดย .....ไม้เอก.........

ที่มา :

สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

กรมควบคุมมลพิษ

การลดปริมาณขยะด้วย ''กลยุทธ์ 5R"

 




[2] นายพิรียุตม์  วรรณพฤกษ์  วิทยานิพนธ์สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  น.103-104

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube