ถ้าประเทศไทยไร้ขยะ


บางอารมณ์หากได้นั่งคิดทบทวนเรื่องเก่าๆ ก็เพลินดี เพราะอย่างน้อยผลพวงแห่งห้วงนั้นก็ทำให้เราผ่อนคลาย แม้เพียงชั่วขณะก็ยังดี ลองคิดเล่นๆ ตั้งคำถามง่ายๆกับเพื่อนร่วมงาน

ใครบ้างที่ไม่เคยผ่านวัยประถม...? 

กลายเป็นคำถามง่ายๆที่ไม่มีใครกล้าตอบว่า “ไม่” เพราะทุกคนเคยเป็นเด็กนักเรียนมาก่อน ยกเว้น เด็กก่อนปฐมวัย ฮ่า ฮ่า ฮ่า กะว่ากันไปนะ 

วันก่อนมีโอกาสได้กลับไปโรงเรียนเก่าที่เคยเรียน ถือว่าโชคดีที่เราได้กลับไปมองย้อนวันวานในวัยเยาว์ แต่เพื่อนๆ หลายคนไม่เคยกลับไปที่โรงเรียนอีกเลย....ฮ้า....ยกเว้น...คนที่มีลูก...ต้องกลับพาลูกเข้าไปเรียนที่ตนเองเคยเรียนมา ฮ่า ฮ่า ฮ่า

 

มองไปเห็นเด็กเตรียมอนุบาลสะพายกระเป๋า....เดินตุปัดตุเป๋มาตามทาง ปากก็เคี้ยวหมุบหมับๆ อย่างเอร็ดอร่อย ช่างเป็นภาพที่น่ารักมาก ทันใดนั้นได้ยินเสียงหนึ่ง เอ่ยขึ้นอย่างดุดัน เอาจริงเอาจัง...! หลังจากที่เห็นเพื่อนทิ้งขยะไม่ลงถัง

“เฮ๊ย! กานต์ กลับมาเก็บไปทิ้งก่อน เดี๋ยวคุณครูดุเอานะ”

   

เสียงนั้นได้ผล ....น้องกานต์กลับมาเก็บขยะและนำไปทิ้งขยะแต่เกิดการชะงัก..เพราะว่า มันมีถังขยะจำนวน 3 ถังด้วยกัน...เพื่อนเลยบอกว่า ถังสีเขียว.....พอทิ้งเสร็จเด็กๆ ก็พากันเดินไปยังห้องเรียนต่อ....รอเวลาเข้าเรียน....

นั่งดูเด็กๆ เข้าแถวเคารพธงชาติ....อดคิดไม่ได้ว่า...ถ้าประเทศไทยไม่มีขยะ....จะสวยงามขนาดไหน...การลดโรคที่เกิดจากขยะหรือกองขยะจะลดจริงหรือเปล่า? หรือว่า จะมีพื้นที่อากาศที่มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นอีก...

ถ้างั้น...เราลองมาทบทวนหากระบวนการเริ่มต้นที่ประเทศไทยเรามีปัญหาที่เกี่ยวกับขยะล้นเมืองในจังหวัดต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2559 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ที่มุ่งเน้นให้เป็นวาระแห่งชาติ 

วิวัฒนาการการจัดการขยะในบ้านเราแบ่งออกได้เป็น  3 ยุค ด้วยกัน คือ
          ยุคที่ 1 การเทกองและเผาทำลาย(Open Dump & Open Burning)
          ยุคที่ 2 การขุดหลุมฝังกลบแบบไม่ถูกหลักสุขาภิบาล
          ยุคที่ 3 การฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล

ปี  2535 ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในแผนแม่บทโลก แผนปฏิบัติการ 21 (agenda 21) ในการประชุมสุดยอดของโลกด้านสิ่งแวดล้อม (earth summit) ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

ปี 2547 ณ Sherraton Tower ประเทศสิงคโปร์ ได้จัดตั้งคณะทำงานของภูมิภาคเอเซียน  ในการประชุม เรื่อง การจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน.... (ENVIRONMENTALLY SUSTAINABLE CITIES PROGRAMME)วัตถุประสงค์ของการดำเนินการ 6 ประการ คือ

                    1. มีการจัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะ

                    2. มีการจัดการขยะอันตรายอย่างถูกสุขลักษณะ

                    3. ลดการผลิตขยะและการกำจัดขยะ

                    4. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง

                    5. สร้างความรับผิดชอบและความเป็นเจ้าของต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน

                    6.  มีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

นโยบายและแผนส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2540-2559 เป้าหมายการดำเนินการ

1.  ลดอัตราการเกิดขยะมูลฝอยชุมชนโดยเฉลี่ยให้ไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

2.  ให้มีการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณมูลฝอยที่เกิดขึ้นและ

3. ให้ทุกจังหวัดมีแผนหลักและแผนการจัดการขยะมูลฝอยและมีระบบกำจัดมูลฝอยที่ถูกลักษณะ

แนวทางดำเนินการไว้  4 แนวทาง ไทยเราได้ดำเนินการและพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง
1. การจัดการ ใช้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” มีการจัดทำแผนให้สอดคล้องกับแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้มาร่วมลงทุน การจัดตั้งองค์กรให้มีการตรวจสอบการรับจ้างสัมปทาน มีการติดตามและประเมินสภาพปัญหาและการจัดการมูลฝอยของชุมชน และกำเนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาระบบข้อมูลการจัดการมูลฝอยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและทันสมัยตลอดเวลา รวมทั้งให้มีศูนย์ประสานข้อมูลการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
2. ด้านการลงทุน ให้มีการลงทุนก่อสร้างสถานที่กำจัดมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะและจัดหาเครื่องจักรกลที่เหมาะสม โดยรัฐร่วมทุนกับภาคเอกชนหรือรัฐสนับสนุนงบประมาณทั้งหมด หรือสมทบบางส่วนให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ จัดตั้งศูนย์กำจัดมูลฝอยส่วนกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างชุมชนหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงกัน
3. ด้านกฎหมาย ปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอย และอัตราค่าธรรมเนียมการลดและใช้ประโยชน์จากมูลฝอย กำหนดให้มีระบบติดตามตรวจสอบบันทึกภาวะมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษ
4. สนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย ให้มีการฝึกอบรม เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการและการบริหารจัดการ แก่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมูลฝอย

สำหรับในสถานศึกษาได้มีการทำกิจกรรมการปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งการให้ความรู้เรื่อง 3Rs คือ Reuse Reduce and Recycle รวมทั้งการรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือในสถานศึกษาให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้เรามีความเชื่อว่าเด็กจะนำพา ความรู้เหล่านี้ไปสู่ครอบครัวและคนใกล้ชิดในครอบครัวได้!!!!!!   แถมมีการโปรโมชั่นสำหรับเด็กๆ ในการร่วมมือด้วย เช่น ธนาคารขยะ โครงการขยะรีไซเคิล เปลี่ยนเป็นเงิน ในห้องเรียน ซึ่งเป็นการส่งเสริมและดึงดูดให้เด็กๆ ทำกิจกรรมได้ดีและมีประโยชน์

กลับโรงเรียนเก่า เล่าเรื่องของหลาน เลยเถิดมาถึงเรื่องวิวัฒนาการ การจัดการขยะ คงต้องบอกว่าแนวทางตามหลักการ กับสิ่งที่โรงเรียนปลูกฝังเด็กๆ ก็ค่อนข้างสอดคล้องไปทางเดียวกันอยู่นะ

ถ้าจะให้ดี ฝากการบ้านให้เด็กๆ เขียนจินตนาการร่วมกันสักหน่อยจะดีไหม ในหัวข้อที่ว่า

“ความสุขของฉัน ในวันที่ประเทศไทยไร้ขยะ...”

 

ที่มา

สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

กรมควบคุมมลพิษ

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube