รู้จักนโยบาย 'ประชารัฐ'


คำว่า 'ประชารัฐ' ไม่มีคำนิยามแบบตายตัว สามารถอธิบายในแบบหนึ่งได้ว่า คือ Cross-Sector Collaboration หรือการทำงานร่วมข้ามภาคส่วนระหว่างรัฐบาล,ภาคธุรกิจ,ชุมชน ตลอดจนองค์กรไม่แสวงกำไร มีการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน และกำกับด้วย Governance เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ รวมไปถึงสามารถอธิบายขยายต่อแนวความคิดเรื่อง 'สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา' ที่นายแพทย์ประเวศ วะสี นำเสนอต่อสังคมมาโดยตลอด นั่นคือ การมีกลไกเอกชน กลไกเข้าถึงของรัฐ และความเข้มแข็งของภาคประชาชน มาขยับพร้อมกันให้เกิดพลัง การมีส่วนร่วมแบบข้ามภาคส่วน เป็นการสร้างสรรค์การทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งประชารัฐได้นำเอาโครงสร้างของ Social Enterprise หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม มาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน

วิธีการดำเนินงานประชารัฐ

มีการจัดการใหม่ในลักษณะของการจัดตั้ง SE holding ระดับประเทศ หรือที่เรียกว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด โดยวางเป้าหมายให้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยในทุกจังหวัด ปัจจุบัน มีการเปิดบริษัทนำร่องแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต, จังหวัดเพชรบุรี, อุดรธานี, เชียงใหม่ และจังหวัดบุรีรัมย์ คาดว่าจะครบ 76 จังหวัด ภายในเดือนธันวาคม 2559

การบริหารจัดการ ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการประชารัฐ ที่มาจากภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม มีการระดมทุนเริ่มต้นจากภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่สะท้อนจากพื้นที่ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดภูเก็ตที่ประสบปัญหาทั้งในด้านการหาตลาดและการกดราคา ซึ่งบริษัทประชารัฐจะเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยในเบื้องต้นได้แบ่งรูปแบบกิจการที่จะเข้าไปดำเนินงานเป็น 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ การแปรรูปประมงชายฝั่ง ร้านค้าชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน และช่างชุมชน การเข้ามาสนับสนุนโดยภาคธุรกิจจะช่วยให้การดำเนินงานของประชารัฐมีองค์ความรู้ทางการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น และมีการจัดการที่มีความครอบคลุมทั้ง Supply Chain

หลักการสำคัญของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ คือ จะไม่มีการปันผลกลับคืนให้บริษัทที่สนับสนุนทุนในการตั้งบริษัท หากมีกำไร กำไรนั้นจะนำกลับไปลงทุนในกิจการใหม่อันเป็นความต้องการของพื้นที่นั้นๆต่อไป สำหรับในภาคธุรกิจ ประชารัฐจะทำให้งาน CSR ถูกยกระดับหรือพัฒนางานขึ้นไป เช่น จากที่เคยทำเฉพาะงานบริจาคหรือการสนับสนุนเชิงงบประมาณกิจกรรมเป็นครั้งคราว จะนำไปสู่การถามหาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ (Outcome Impact) ที่อธิบายควบคู่ไปกับงานด้านสังคมได้

Kick off ประชารัฐ

นโยบายประชารัฐ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2559  ณ ตึกสันติไมตรี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามการจัดตั้ง ‘บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด’ มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีลงนาม

บรรณานุกรม

เปิดตัวบริษัทประชารัฐ.(9 พ.ค.59). www.right-livelihoods.org

เปิดบริษัทประชารัฐรักสามัคคี นวัตกรรมแห่งการปฏิรูปสังคมไทย.(12 มิ.ย.59). http://www.thansettakij.com

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube